การหลงใหลกับความหวาน รวมทั้งความหวานจากน้ำตาลด้วย เมื่อคุณได้รับในปริมาณที่มากเกินไป น้ำตาลทิ้งผลพลอยได้แห่งโรคอ้วน ความดันเลือดสูง เบาหวาน โรคหัวใจ ไขมันในเลือดสูง ปวดท้อง และฟันผุไว้ให้คุณ
- โรคอ้วน
เมื่อคุณกินน้ำตาลเข้าไป ร่างกายจะทำการย่อยเพื่อใช้เป็นพลังงาน ถ้าเหลือใช้ร่างกายจะเก็บไว้เป็นเสบียงอยู่ในตับและกล้ามเนื้อ ในสภาพของสารเคมีชนิดหนึ่งเรียกว่า “ไกลโคเจน” ถ้ายังเหลือต่อไปอีกร่างกายจะกลายสภาพน้ำตาลเป็นไขมันเก็บสะสมอยู่ตามส่วนต่างๆในตัวคุณ เมื่อใดต้องการพลังงานพิเศษ ร่างกายจะใช้น้ำตาลเสบียงก่อน และเมื่อใดน้ำตาลเสบียงหรือกลัยโคเจนมีไม่เพียงพอ จึงจะใช้ไขมัน ด้วยเหตุนี้ ถ้าคุณกินอาหารมากแล้วใช้พลังงานน้อย ไขมันจึงมีโอกาสเพิ่มพูนได้ง่ายขึ้น และไม่ค่อยจะยอมจากคุณไปเสียด้วย
นอกจากนี้คุณควรนึกถึงความจริงที่ว่า น้ำตาลเป็นอาหารหลักของมนุษยชาติ เพราะราคาถูกและสามารถนำไปปรุงอาหารได้มาก ถึงโลกจะกว้างใหญ่ แต่คุณก็หนีน้ำตาลไม่พ้น เพราะคุณจะพบน้ำตาลได้ในอาหารแทบทุกชนิด ตั้งแต่อาหารคาว หวาน ของว่าง ของขบเคี้ยวเล่น และยิ่งเมื่อคุณแวะเข้าร้านขายเครื่องดื่ม คุณยิ่งไม่มีทางหลีกเลี่ยงน้ำตาลได้เลย และอาหารที่มีน้ำตาลเป็นส่วนผสมยังสามารถเรียกน้ำย่อยคุณได้มากกว่า และน่ากินกว่า คุณสามารถกินเพลินจนลืมอิ่ม เพราะอาหารพวกนี้มีกากน้อยทำให้มีขนาดเล็ก กินง่ายกว่าอาหารที่มีกากมาก นอกจากนี้ อิทธิพลการโฆษณาของอาหารประเภทนี้ ยังเย้ายวนชวนให้เคลิบเคลิ้มได้ง่าย โดยเฉพาะเด็กๆ ของเรา
- ไขมันในเลือดสูง (ไตรกลีเซอไรด์)
ไขมันในเลือดของคนเราที่สำคัญมีอยู่ 4 ชนิด คือ กรดไขมันอิสระ โคเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ และฟอสโฟไลปิด คุณๆ ที่นิยมกินน้ำตาล ของหวานอย่างสม่ำเสมอและกินเป็นจำนวนมาก คุณเป็นอีกคนหนึ่งที่เข้าข่ายมีภาวะไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง มาถึงตรงจุดนี้ก็อยากให้คุณๆ รู้จักไตรกลีเซอไรด์กันเสียหน่อย
ไตรกลีเซอไรด์นั้นไม่ละลายในน้ำ ดังนั้น การขับถ่ายไตรกลีเซอไรด์ในเลือดหรือน้ำเหลือง จะทำได้โดยรวมตัวอยู่กับโปรตีน ในสภาพที่เรียกว่า ไลโปโปรตีน
เมื่อไตรกลีเซอไรด์เดินทางมาถึงลำไส้จะถูกย่อยและดูดซึมเข้าสู่เซลล์ของเยื่อบุลำไส้ จากนั้นจะถูกขนถ่ายออกจากลำไส้ไปตามหลอดน้ำเหลืองและเข้าสู่หลอดเลือดดำในที่สุด โดยอยู่ในภาพของไคโลไมครอน ซึ่งสามารถผ่านเข้าสู่เนื้อเยื่อชนิดต่างๆ ทั่วร่างกายได้ ยกเว้นสมอง
ไตรกลีเซอไรด์ที่อยู่ในไคโลไมครอนนี้ ส่วนหนึ่งจะถูกเผาผลาญเป็นพลังงาน อีกส่วนหนึ่งจะถูกเก็บไว้ในเนื้อเยื่อไขมัน (adipose tissue) ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เมื่อร่างกายต้องการพลังงานก็เรียกมาใช้ได้ ดังนั้นเมื่อคุณกินอาหารประเภทแป้งและน้ำตาลมาก ร่างกายจะนำไขมันไปแปรเปลี่ยนเป็นพลังงานไม่ทัน จึงเกิดการสะสมไตรกลีเซอไรด์ขึ้นร่างกาย ก่อให้เกิดไขมันในเลือดสูง
- ความดันเลือดสูง
ผลพลอยได้จากโรคอ้วนและไขมันในเลือดสูงส่งผลให้คุณมีความดันเลือดสูงตามมาด้วย เพราะหัวใจและหลอดเลือดของคนที่สมบูรณ์เกินไป (อ้วน) ทำงานหนักมากกว่าปกติ และมักมีไขมันเกาะตามผนังหลอดเลือด ทำให้เกิดการแข็งตัว นอกจากนี้โรคหัวใจขาดเลือดยังจะถามหาคุณอีกด้วย
- โรคหัวใจขาดเลือด
โดยปกติ ผนังด้านในหลอดเลือดแดงที่เลือดไหลผ่านจะมีลักษณะราบเรียบ แต่เมื่อเกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง โดยขาดความอ่อนนุ่มและความยืดหยุ่นตัว เนื่องจากมีการคั่งของไขมันที่ผนังด้านในของหลอดเลือดแดง ทำให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ได้ไม่ดี เปรียบเหมือนท่อน้ำที่สนิมจับเกรอะกรังภายใน น้ำย่อมไหลไม่สะดวก ถ้าไขมันนี้ไปอุดตันที่หลอดเลือดแดงไปเลี้ยงหัวใจ ก็จะเกิดโรคหัวใจขาดเลือดได้
เมื่อร่างกายได้รับน้ำตาลมากเกินไปจนก่อให้เกิดไขมันในเลือดสูง ไขมันที่เป็นส่วนเกินจะเข้าไปจับจองเนื้อที่ในหลอดเลือดแดงจนเกิดการไหลเวียนของเลือดไม่สะดวก ด้วยเหตุนี้โรคหัวใจขาดเลือดจึงเยี่ยมกรายมาทายทักคุณอีแกเช่นกัน
- เบาหวาน
การกินน้ำตาลมากเกินไปมีผลต่อการทำงานของตับอ่อน โดยกระตุ้นให้ตับอ่อนหลั่งฮอร์โมนอินซูลินออกมามากขึ้น ฮอร์โมนตัวนี้มีหน้าที่สำคัญ คือ ควบคุมน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูง แต่ถ้าตับอ่อนถูกเร่งเครื่องอยู่เรื่อยๆ ก็หมดสมรรถภาพได้ ในไม่ช้าโรคเบาหวานก็จะอยู่คู่กับคุณ เพราะอินซูลินหลั่งไม่ได้ น้ำตาลในเลือดขึ้นสูง น้ำตาลส่วนที่เกินจะถูกขับออกมาทางปัสสาวะ โรคนี้จะพบมากในคนบางคนที่มีปัญหาทางกรรมพันธุ์และพบมากในคนอ้วน
- โรคฟันผุ
ผลที่ตามมาของการกินน้ำตาลมากเกินไปที่จะขาดเสียไม่ได้คือโรคฟันผุ น้ำตาลแต่ละชนิดทำให้ฟันผุได้มากน้อยต่างกัน ชนิดที่ติดฟันง่ายและอยู่ในปากได้นานทำให้ฟันผุได้ง่ายกว่า เช่น ทอฟฟี่ ช็อกโกแลต หมากฝรั่ง กาละแม ผลไม้กวน อาหารเชื่อมหรือเคลือบน้ำตาลล้วนแล้วแต่อุดมไปด้วยน้ำตาล เมื่อคราบอาหารเหล่านี้ติดฟัน แบคทีเรียชนิด Lactobacillus acidophilus ซึ่งอยู่ในปากจะเปลี่ยนน้ำตาลที่ติดฟันให้เป็นกรดแลกติก กรดนี้จะทำลายเคลือบฟัน (enamel) จนเกิดเป็นรูเล็กๆ และถ้าไม่รักษา รูเล็กๆ ก็จะกลายเป็นรูใหญ่ และในที่สุดคุณก็เข้าสู่ภาวะเหงือกจ๋าฟันลาก่อนไปโดยปริยาย
- โรคปวดท้อง ท้องอืด
การที่กระเพาะอาหารมีน้ำตาลมากเกิดการสะสม มีส่วนทำให้แบคทีเรียกลุ่มแลกติกที่อยู่ในทางเดินอาหารผลิตกรดและแก๊สขึ้น อาจทำให้ท้องอืดหรือปวดท้องได้
การกินน้ำตาลเราควรคำนึงถึงผลที่จะตามมาเมื่อกินเกินปริมาณที่ร่างกายควรได้รับ บางทีผลเสียอาจจะทำให้เราทุกข์ใจไปตลอดชีวิตเพีงแค่เพราะเราตามใจปากของเรามากเกินไปค่ะ
น้ำหวานดอกมะพร้าวออร์แกนิค ตราแมนเนเจอร์ (Organic Coconut Syrup By ManNature)
ขอบคุณข้อมูลจาก doctor
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
Tag :
บทความที่แนะนำ