กาแฟกลายเป็นหนึ่งในค่านิยมของคนไทย หันไปทางไหนก็เห็นแต่คนเดินเข้าร้านกาแฟกันตลอดไม่เว้นแต่ละวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกาแฟเย็นที่ให้พลังงานพร้อมความอร่อย ที่ใครหลายคนคาดไม่ถึงว่าเป็นตัวการที่ทำให้อ้วน
กาแฟเย็น 1 แก้วมีอะไรซ่อนอยู่บ้าง
รสชาติที่แท้จริงของกาแฟควรจะมีรสขมนำ แต่ถ้าเมื่อไรที่ดื่มเข้าไปแล้วพบว่า รสชาติกลมกล่อม หอม หวาน มัน ชื่นใจละก็! ขอให้รู้ไว้ว่าเราไม่ได้กำลังดื่มแค่กาแฟเพียงอย่างเดียว จากผลการสำรวจของสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ในกาแฟเย็น 1 แก้วนั้น มีมากกว่าแค่สารคาเฟอีน เพราะกาแฟเย็นขนาดแก้ว 20 ออนซ์ หรือ 600 มิลลิลิตร มีส่วนประกอบของไขมัน 22.1 กรัม โปรตีน 10.9 กรัม และคาร์โบไฮเดรต 49.4 กรัม ซึ่งให้พลังงานต่อร่างกายสูงกว่า 200 กิโลแคลอรี โดยพลังงานที่ร่างกายได้รับส่วนใหญ่มาจากน้ำตาลที่มาจากนมข้น ครีมเทียม หรือไซรัป ในปริมาณที่มากถึง 38 กรัม หรือประมาณ 10 ช้อนชา
เมนูกาแฟยอดฮิตที่ขายกัน เช่น ลาเต้ มอคค่า เอสเปรสโซ่ และคาปูชิโน่ โดยกาแฟแต่ละสูตรนั้นมีปริมาณน้ำตาลไม่ต่างกันเท่าไรนัก ยกเว้นเมนูที่มีส่วนผสมของช็อกโกแลตและกาแฟที่ดื่มแล้วจะทำให้อ้วนมากกว่าเมนูอื่นๆ เช่น มอคค่าเย็น ที่ไม่ได้ให้แค่น้ำตาลอย่างเดียว ซึ่งหากลองเปรียบเทียบปริมาณน้ำตาลในกาแฟแต่ละสูตรจะพบว่า
- ลาเต้เย็นให้พลังงานสูงถึง 288 กิโลแคลอรี มีปริมาณน้ำตาลประมาณ 3-9 ช้อนชา
- คาปูชิโน่เย็นให้พลังงานสูงถึง 303 กิโลแคลอรี มีปริมาณน้ำตาลประมาณ 6-9 ช้อนชา
- มอคค่าเย็นให้พลังงานสูงถึง 400 กิโลแคลอรี มีปริมาณน้ำตาลประมาณ 5-9 ช้อนชา แถมยังมีปริมาณน้ำตาลที่มาจากน้ำเชื่อมและผงช็อกโกแลตด้วย
แต่สำหรับกาแฟสูตรอื่นที่นอกเหนือไปจากนี้ เช่น เมนูแฟรบปูชิโน่ ทั้งแบบมีวิปครีมและไม่มีวิปครีมถือว่าเป็นเมนูกาแฟที่กินแล้วอ้วนที่สุด เพราะให้พลังงานสูงถึง 561 แคลอรี และ 457 แคลอรีตามลำดับ
นอกจากปริมาณน้ำตาลในกาแฟเย็นที่ทำให้เราอ้วนขึ้นแล้ว ยังมีตัวการร้ายที่เราต้องระวังให้ดีก็คือ ครีมเทียม เพราะครีมเทียมมีส่วนประกอบหลักเป็นไขมัน โปรตีน และน้ำตาล มีปริมาณกรดไขมันอิ่มตัวสูงประมาณร้อยละ 20-50 ถือเป็นไขมันทรานส์ที่มีผลให้คอเลสเตอรอลชนิดเลว (LDL) ในเลือดเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ระบบการทำงานของตับผิดปกติ หากเราชงกาแฟด้วยครีมเทียมครั้งละ 2-3 ช้อนขึ้นไปเป็นประจำทุกวัน แน่นอนว่าเรามีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันอุดตันในเส้นเลือดยังมีความอร่อยอีกหนึ่งอย่างที่เราต้องคำนึงถึงด้วยนั่นก็คือ น้ำเชื่อมแต่งรสชาติต่าง ๆ เช่น วานิลลา ฮาเซลนัท มินท์ และคาราเมล ซึ่งก็ถือว่าอยู่ในหมวดหมู่ของน้ำตาลไซรัปเติมรสชาติ ที่ส่งผลให้แคลอรีในกาแฟแก้วโปรดของเราเพิ่มขึ้นด้วยเหมือนกัน
ดื่มกาแฟไม่ให้อ้วน ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่
ไม่มีใครที่จะเลิกดื่มกาแฟได้แบบฉับพลันได้ ยิ่งคนที่ติดกาแฟมากๆ เพราะกาแฟมีคาเฟอีนกระตุ้นระบบประสาทให้ตื่นตัว ช่วยแก้อาการง่วง วิตกกังวล และลดอาการซึมเศร้าได้ เมื่อเราดื่มแล้วรู้สึกดีขึ้น ทำให้มีพลังวังชาในการทำงานได้อย่างยาวนานหลายชั่วโมงโดยไม่มีเหนื่อย
ถ้าแบบนั้นลองปรับจากที่เคยปรุงรสหวานๆ ให้หันมาใช้ครีมเทียมหรือสารที่ให้ความหวานแทนน้ำตาลแบบไขมันต่ำจะดีกว่า แบบนี้น่าจะเป็นทางเลือกให้คุณยังคงดื่มกาแฟถ้วยโปรดได้อย่างอร่อยเช่นเดิม และไม่ทำให้รูปร่างอ้วนขึ้นได้ด้วย หรือหากจะหันมาดื่มกาแฟดำที่ให้แคลอรีประมาณ 17-19 แคลอรีเท่านั้นก็นับว่าดีมากๆ เพราะจะทำให้ร่างกายได้รับสารคาเฟอีนที่มีสารแอนตี้ออกซิแดนท์เช่นเดิม และนั่นก็เป็นสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เพราะสามารถป้องกันโรคมะเร็งบางชนิดได้และยังต้านโรคโดยเฉพาะนิ่วในทางเดินปัสสาวะและนิ่วในถุงน้ำดีได้ด้วย
เห็นไหมว่า การดื่มกาแฟนั้น ถ้าเรารู้จักดื่มอย่างถูกวิธีก็ย่อมทำให้เรามีหุ่นดีได้ ขณะเดียวกัน ไม่ควรดื่มมากเกินไป อาจจะดื่มเพียงวันละ 1-2 แก้ว เพราะหากดื่มเยอะเกินไปจะส่งผลต่อผู้ที่เป็นโรคหัวใจให้มีอาการบีบหัวใจหนักขึ้น ทำให้เราเกิดอาการนอนไม่หลับ กระสับกระส่าย วิตกกังวล และปวดศีรษะได้ด้วย ดังนั้นแล้ว ดื่มอย่างพอเหมาะและหันมาออกกำลังกายเป็นประจำ เท่านี้การมีหุ่นสวยไปพร้อมกับการติดกาแฟก็ย่อมเป็นไปได้ ดังนั้นใครที่ติดกาแฟเย็นมาก ขอแนะนำให้ลองเปลี่ยนมาเป็นกาแฟร้อนดูนะคะ เพราะการกินแบบร้อนจะทำให้เราลดปริมาณน้ำตาลและไขมันได้มากกว่า อีกทั้งยังทำให้เรารับรสกาแฟได้มากขึ้นกว่าเดิมด้วย
ด้วยความปรารถนาดีจาก น้ำหวานดอกมะพร้าวออร์แกนิค ตราแมนเนเจอร์ (Organic Coconut Syrup By ManNature)
ขอขอบคุณข้อมูลจาก sanook
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
Tag :
บทความที่แนะนำ